ประวัติความเป็นมาของ
วัดราชธานี
วัดราชธานี
เป็นวัดที่สังกัดมหานิกาย ได้ตั้งวัดเมื่อ
พ.ศ. ๑๙๒๐ และได้รับพระราชทาน
วิสุงคามสีใหม่ เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม
พ.ศ. ๒๕๕๔ ตั้งอยู่เลขที่ ๓๘ ถนนราชธานี
ตำบลธานี อำเภอเมืองสุโขทัย
จังหวัดสุโขทัย มีเนื้อที่ ๑๓ ไร่ ๓ งาน
๑๓ ตารางวา
วัดราชธานี เป็นวัดที่เก่าแก่
มาจากหลักฐานทางโบราณสถาน โบราณวัตถุ
ที่หลงเหลืออยู่เป็นก้อนอิฐ
ที่นำมาก่อสร้างเจดีย์เก่าแก่ มีขนาดกว้าง ๖
นิ้ว ยาว ๑๒ นิ้ว หนา ๑ นิ้วครึ่ง
ซึ่งนักโบราณคดีสันนิษฐานว่า
เป็นเจดีย์สมัยสุโขทัย ในราวปี พ.ศ. ๑๙๒๐
หรือในสมัยของ พระมหาธรรมราชาที่ ๒ (พ.ศ.
๑๙๑๑ - ๑๙๔๒)
มีเอกสารที่กล่าวถึงวัด
ราชธานี ปรากฏในพระนิพนธ์เรื่อง
"ระยะทางสมเด็จพระมหาสมณเจ้าเสด็จตรวจการคณะสงฆ์มณฑลฝ่ายเหนือ"
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ ความว่า
"วัดนี้ถาวรวัตถุเป็นชิ้นเป็นอันหลายอย่าง
โบสถ์วิหารก่อด้วยอิฐมุงกระเบื้อง
มีช่อฟ้าใบระกาหน้าจั่วสลักลาย
ในนั้นมีพระประธานอย่างสุโขทัย"
วัดราชธานี เดิมชื่อว่า
"วัดป่าละเมาะ" เพราะเต็มไปด้วยป่าละเมาะ
และป่าไม้ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น วัดธานี
ซึ่งคำว่า "ธานี" นั้นหมายถึง
ชื่อของหมู่บ้าน
ปรากฎในเอกสารจดหมายเหตุเป็นครั้งแรก
ในจดหมายเหตุ ร.๑ จ.ศ. ๑๑๔๗
ชื่อบัญชีจ่ายข้าวส่งกองทัพ เลขที่ ๑ พ.ศ.
๒๓๒๘ มีเนื้อความว่า
บ้านธานี บ้านกล้วย บ้านสวน
จ่ายข้าวส่งกองทัพหมู่บ้านละ ๒ ทะนาน
ในปีมะเส็ง สัปตศกกับปีมะเมีย อัฐศกตรงกับ
พ.ศ. ๒๓๒๘ และ พ.ศ. ๒๓๒๙
วัดราชธานี เข้าใจว่า
นำชื่อเมืองราชธานี มาตั้งเป็นนามวัด
เพราะในระหว่าง พ.ศ. ๒๓๗๕ - ๒๓๗๘
ซึ่งปรากฎ ชื่อเมืองราชธานี
เป็นชื่อเมืองขึ้นของเมืองสุโขทัย
โดยเขียนลงไว้ในศิลาจารึก
ตอนทำเนียบหัวเมือง
และผู้ครองเมือง
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ศิลาจารึกนี้ ติดอยู่ที่คอสองเฉลียง
พระระเบียงล้อมพระอุโบสถ
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ทั้ง ๔ ด้าน
รวมทั้งหมด ๔๗๔ เมือง
คำว่า เมืองราชธานี เป็นชื่อหน่วยการปกครอง
ก่อนวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๕
เจ้าเมืองนี้ มีราชทินนามว่า
พระราชธานี อยู่ในความปกครองของ
พระยาศรีธรรมโศกราชชาติบดินทร์สุรินทรลือชัยอภัยพิริยปรากรมพาหุ
ผู้สำเร็จราชการเมืองสุโขทัย
(เจ้าเมืองสุโขทัย)
เมืองสุโขทัย
ก่อน วันที่
๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๕
มีเมืองในความปกครอง
๖ เมือง ดังนี้
๑.
เมืองศรีสำโรง
เจ้าเมือง มี ราชทินนาม ว่า
พระศรีสมารังคบดี
๒. เมืองคีรีมาศ
เจ้าเมือง มี ราชทินนาม ว่า พระคีรีมาศ
๓. เมืองกงไกรลาศ
เจ้าเมือง มี ราชทินนาม ว่า พระกงไกรลาศ
๔. เมืองราชธานี
เจ้าเมือง มี ราชทินนาม ว่า พระราชธานี
๕. เมืองนครนาคง
เจ้าเมือง มี ราชทินนาม ว่า พระนครนาคง
๖. เมืองกงพราน
เจ้าเมือง มี ราชทินนาม ว่า พระกงพราน
แรกทีเดียว ในวิหารวัดราชธานี
มีพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยปางต่างๆ
เป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ ยังมีพระพุทธรูปสมัยอู่ทอง
สมัยลพบุรีเป็นจำนวนมาก
ปัจจุบันได้นำไปเก็บรักษาไว้
ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติภูมิภาคที่ ๓
สุโขทัย
ที่เหลือนอกนั้น
ได้ถูกเพลิงไหม้พร้อมกับกุฏิ และอุโบสถ
เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๑
ดังที่ปรากฏในเนื้อเพลง "สุโขทัยระทม"
ประการหนึ่งเป็นเพลงประจำจังหวัดสุโขทัย
ที่มีเนื้อเพลงกล่าวถึงเหตุการณ์ไฟไหม้ตลาด
ครั้งใหญ่ และวัดราชธานี
ก็ถูกไฟไหม้ในครั้งนั้น
อุโบสถที่เก็บพระพุทธรูปสำคัญก็ถูกไฟไหม้ด้วย
อุโบสถหลัง
ที่ถูกไฟไหม้นั้น สันนิษฐานว่า
ได้สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย ระหว่าง
พ.ศ. ๒๓๑๐ – ๒๓๒๕ จากรูปแบบของทรงโบสถ์
แต่เป็นเพราะเกิดเหตุไฟไหม้ตลาดครั้งใหญ่
จึงทำให้ถูกไฟไหม้เสียหายเป็นอย่างมาก
แต่ยังใช้ประกอบพิธีสังฆกรรมได้ เช่น
ประกอบพิธีอุปสมบท
การทำพิธีอธิษฐานเข้าพรรษา และออกพรรษา
เป็นต้น
และเมื่อกรมศิลปากร
สำนักงานที่ ๖
จังหวัดสุโขทัยได้เล็งเห็นความสำคัญของตัวอาคารโบสถ์หลังนี้
และเพื่อที่จะต้องการอนุรักษ์อุโบสถหลัง
นี้ ให้สมบูรณ์ใช้ประโยชน์ได้ดังเดิม
จึงได้เข้ามาบูรณะแบบสร้างใหม่ตามรูปแบบเดิม
โดยเลือกใช้การอนุรักษ์เชิงปฏิสังขรณ์ด้วย
การสร้างอาคารขึ้นใหม่ตามหลักฐานเดิม
เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๖๑
และแล้วเสร็จในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๖๒
วัดราชธานี เมื่อประมาณ ๗๐
ปีก่อน ทางราชการ พ่อค้า และประชาชนถือว่า
เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่ง
โดยที่ทางราชการได้อาศัยเป็นสถานที่ประกอบรัฐพิธีที่สำคัญ
เช่น พิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา พร้อมกันนี้
วัดราชธานีแห่งนี้
ยังเคยเป็นสาขาพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๗
เนื่องจากวัดแห่งนี้มีการรวบรวมโบราณวัตถุ
ศิลปวัตถุ ไว้เป็นจำนวนมาก
อีกทั้งเป็นวัดที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง
มีอุโบสถ วิหาร ศาลาการเปรียญ พิพิธภัณฑสถาน
ศาลาวัด
นอกจากจะใช้บำเพ็ญกุศลแล้ว
ยังใช้เป็นสถานศึกษา
เป็นสถานที่เรียนหนังสือของเด็กชั้นประถมศึกษาแห่งแรกในเมืองสุโขทัย
และโรงเรียนมัธยมศึกษาสตรีประจำจังหวัดอีก
ด้วย
และที่สำคัญคือ
ชาวเมืองจะให้ความเคารพนับถือพระพุทธรูปของวัดเก่า
ศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างยิ่ง เรียกว่า
หลวงพ่อเป๋า หรือ หลวงพ่อเป่า
วัดราชธานี
เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
ของจังหวัดสุโขทัย ในช่วงอยุธยาตอนปลาย
ประมาณปี พ.ศ. ๒๓๐๕
วัดราชธานี
ได้เป็นที่พำนักอาศัยของพระยาพิชัยดาบหัก
ในสมัยที่ท่านมีชื่อว่า จ้อย หรือ ทองดี
ได้เดินทางมายังสุโขทัย
เพื่อขอสมัครเป็นศิษย์ของครูจีนแต้จิ๋วคนหนึ่งเพื่อฝึกมวยจีน
และฝึกอยู่จนสำเร็จ
ทั้งยังได้ศิษย์วัดคนหนึ่งชื่อ บุญเกิด
(หมื่นหาญณรงค์) เป็นเพื่อนด้วย
ตอนนั้นนายทองดี และบุญเกิด อาศัยอยู่ที่
วัดราชธานี อยู่วัดนี้ได้ประมาณ ๖ เดือน
ก็มีชาวจีนมาจากเมืองตาก
เห็นฝีมือของนายทองดี จึงชวนไปเมืองตาก
พ.ศ. ๒๔๒๘ วันศุกร์
เดือนสิบสอง ขึ้นสิบสี่ค่ำ ปีระกาสัปตศก
พระกำแพงพราหมณ์ปลัด ผู้รักษาเมือง
กรมการเมืองสุโขทัย ได้เชิญผ้าไตรพระกฐิน
และเครื่องบริขาร ขึ้นบุษบก ลงเรือแห่
พร้อมด้วยกรมการ และราษฎร
ครั้นรุ่งขึ้น ณ วันเสาร์ เดือนสิบสอง
ขึ้นสิบห้าค่ำ เพลาเช้า สองโมงเศษ
ได้นำผ้าไตรพระกฐิน และเครื่องบริขาร
ขึ้นบนเกย น้อมคำนับกราบถวาย
ถวายบังคมแล้ว ได้น้อมนำผ้าไตรพระกฐิน
และเครื่องบริขาร เข้าอุโบสถ
ถวายเจ้าอธิการวัดราชธานีแล้ว
กรมการเมืองสุโขทัย
ขอพระราชทานถวายพระราชกุศล
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดบอกปรนนิบัติ
ประทับตรามาเป็นสำคัญ
วัดนี้
เคยเป็นที่สถิตของ
พระครูเจ้าคณะเมืองสุโขทัย ซึ่งมีฉายาว่า
ไชยเสโนภิกขุ ปรากฏในจดหมายเหตุ ร.๔ จ.ศ.
๑๒๒๕ ชื่อใบบอกเมืองสุโขทัย เรื่อง
ขอพระไชยเสโน
เจ้าอธิการวัดราชธานี
เป็นพระครูสังฆปาโมกข์เมืองสุโขทัย เลขที่
๑๓ พ.ศ. ๒๔๐๖ และคงมรณภาพใน พ.ศ. ๒๔๓๐
เพราะมีเอกสารจดหมายเหตุ
เก็บอยู่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ชื่อ
จดหมายเหตุ ร.๕
เอกสารเย็บเล่มกระทรวงมหาดไทย รล. – มท.
เล่มที่ ๓ ลำดับที่ ๙ เรื่อง
พระราชทานเพลิงศพ พระครูสังฆปาโมกข์
วัดราชธานี จ.ศ. ๑๒๔๙ หน้าที่ ๓๖
พระยาศรีธรรมโศกราชชาติบดิน
ทรสุรินทรลือชัยอภัยพิริยะปรากรมพาหุ
ผู้สำเร็จราชการเมือง และพระกำแพงพราหมณ์
ปลัด พระพิทักษ์ภูธร ยกระบัตร พระพรหมสงคราม
พระพล กรมการเมืองสุโขทัย
ได้อาราธนาพระภิกษุสงฆ์วัดราชธานี ๑๘ รูป
มีพระครูศุขวโรทัยอธิปไตยสงฆนิกร เป็นประธาน
ให้ศีลแล้วเจริญพระพุทธมนต์ พร้อมกันทุกองค์
ในวันเฉลิมพระชนม์พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้า
อยู่หัว ในปีรัตนโกสินทรศก ๑๑๐ นี้
วันจันทร์ที่ ๒๐ กันยายน ร.ศ. ๑๑๐
ต่อมาในปี ร.ศ. ๑๑๒ หรือ พ.ศ.
๒๔๓๖ ได้มีการค้นคว้า
หาต้นกำเนิดของหุ่นกระบอกไทย
ดังนั้น ประวัติความเป็นมาของ หุ่นกระบอกไทย
จึงสืบได้ไกลสุด แค่เพียง นายเหน่ง คนขี้ยา
อาศัยวัดอยู่เมืองสุโขทัย ได้นำหุ่นไหหลำ
มาดัดแปลงเป็นหุ่นไทย
และออกเชิดร้องเล่นหากิน
และต่อมาจนถึง หม่อมราชวงศ์เถาะ
มหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ผู้เคยได้ตามเสด็จสมเด็จฯ
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ไปเห็นหุ่นกระบอกที่เมืองอุตรดิตถ์
และได้กลับมาสร้างหุ่น ตั้งคณะหุ่นกระบอก
ขึ้นเป็นคณะแรก ในกรุงเทพมหานคร เมื่อปี
พ.ศ. ๒๔๓๖
ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พ.ศ. ๒๔๔๘
โรงเรียนสุโขทัยวิทยาคม
ได้มาก่อสร้างอาคารเรียน และแล้วเสร็จในปี
พ.ศ. ๒๔๔๙ โดยมีพระครูศุขวโรทัย
เจ้าคณะเมืองสุโขทัย วัดราชธานี
ได้บริจาคทรัพย์ ร่วมสร้างโรงเรียน
เป็นจำนวนเงิน ๔๗ บาท
และต่อมาเมื่อพระสมุห์ทิม ยสทินฺโน
วัดอนงคาราม ธนบุรี ได้รับบัญชาจาก
สมเด็จพระสังฆราช
ให้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราชธานี
เป็นพระครูชั้นประทวน
ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะแขวง อำเภอเมืองสุโขทัย
และอำเภอกงไกรลาศ
โดยเดินทางจากสถานีรถไฟพระนคร เมื่อวันที่
๒๔ กรกฎาคม ๒๔๖๐ มาลงรถไฟที่สถานีสวรรคโลก
แล้วนั่งเรือล่องไปตามลำแม่น้ำยม
จนถึงวัดราชธานี ตำบลธานี
โดยได้รับเลื่อนสมณศักดิ์ตามลำดับดังนี้
พ.ศ. ๒๔๖๑
เลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระครูวินัยสารโสภิต
พ.ศ. ๒๔๗๒ เลื่อนสมณศักดิ์เป็น
พระครูวินิจฉัยพุทธบัญญัติ
พ.ศ. ๒๔๙๐ ได้รับแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็น
พระโบราณวัตถาจารย์
พ.ศ. ๒๕๐๕ เลื่อนสมณศักดิ์เป็น
พระราชประสิทธิคุณ
การที่เจ้า
อาวาสวัดราชธานี ในขณะนั้น
ได้ดำรงสมณศักดิ์
เป็นท่านเจ้าคุณโบราณวัตถาจารย์ นั้น
เพราะเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
เสด็จประพาสโบราณสถาน เมืองเก่าสุโขทัย
และเมืองเก่าศรีสัชนาลัย
ทรงทราบว่า เจ้าอาวาสวัดราชธานี
รวบรวมพระพุทธรูป
และโบราณวัตถุสมัยสุโขทัย ไว้เป็นจำนวนมาก
จึงทรงโปรดในธุระภารกิจ ประวัติของ
เจ้าอาวาสวัดราชธานี เป็นอย่างยิ่ง
ราชทินนามโบราณวัตถาจารย์ว่างเว้นมานาน
เพราะไม่มีภิกษุรูปใดเหมาะสม
กับภารกิจในการอนุรักษ์โบราณ
ตลอดสมัยรัชกาลที่ ๕ ถึงรัชกาลที่ ๘
ของราชวงศ์จักรีเลย
จนนำมาใช้กับเจ้าอาวาสวัดราชธานี
อีกครั้งใน พ.ศ. ๒๔๙๐
และได้รับงบประมาณ จำนวน ๒๐๐ บาท
(สองร้อยบาทถ้วน) สำหรับการปกป้องรักษา
โบราณสถานทั่วจังหวัดสุโขทัย ที่
กรมศิลปากรฝากให้เจ้าอาวาสวัดราชธานี
เป็นผู้อนุมัติงบประมาณของปี พ.ศ.๒๔๗๘
นั้น
ในปีพุทธศักราช ๒๕๐๑
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร
มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
เสด็จประทับแรม ณ ศาลากลางจังหวัดสุโขทัย
อาคารหลังเก่าทิศตะวันตก ด้านริมแม่น้ำยม
ในคืนวันเสาร์ที่ ๑ มีนาคม ๒๕๐๑
ในขณะเสวยพระกระยาหารค่ำ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
ได้ตรัสถามนายเชื่อม ศิริสนธิ
ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ถึงพระสมุห์ทิม
ที่เคยอยู่วัดอนงคาราม
แล้วขึ้นมาจำพรรษาที่เมืองสุโขทัย ว่า
ขณะนี้ท่านจำพรรษาอยู่วัดใด
ในจังหวัดสุโขทัย มีพระราชประสงค์
จะเสด็จไปเยี่ยมเป็นการส่วนพระองค์
เพราะสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
ขณะเมื่อยังทรงพระเยาว์อยู่
เคยไปบำเพ็ญกุศลที่ วัดอนงคาราม เป็นประจำ
ทรงคุ้นเคยกับ พระสมุห์ทิม เป็นอย่างดี
และทรงทราบว่า ขณะนี้ ขึ้นมาจำพรรษา
อยู่ที่จังหวัดสุโขทัย แล้วทรงมีพระราชปรารภ
ว่า
ถ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
ทรงทราบอยู่ที่วัดใด
ขอให้ทรงหาโอกาสไปทรงเยี่ยมคารวะแทนสมเด็จพระราชชนนีด้วย
นายเชื่อม
ศิริสนธิ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย
ในขณะนั้น จึงให้เจ้าหน้าที่ไปแจ้งให้
เจ้าคุณโบราณวัตถาจารย์
(นามเดิมพระสมุห์ทิม)
เจ้าอาวาสวัดราชธานีทราบ
เพื่อเตรียมการรับเสด็จฯ
ให้ทันในเวลาเช้าวันรุ่งขึ้น
ฉะนั้น เช้าวันอาทิตย์ที่ ๒
มีนาคม ๒๕๐๑ เวลา ๑๐.๐๘ น.
ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย
และไพร่ฟ้าพสกนิกรชาวตลาดสุโขทัยธานี
จึงมีความปลาบปลื้มยินดีกันถ้วนหน้า
ที่ได้มีโอกาสรับเสด็จ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
และสมเด็จพระนางเจ้าฯ
ที่ทรงแวะเยี่ยมเจ้าคุณโบราณวัตถาจารย์
(พระสมุห์ทิม) เจ้าอาวาสวัดราชธานี
ซึ่งเป็นวัดที่ตั้งอยู่ในตลาด
กลางเมืองสุโขทัย
ประชาชน อุบาสก อุบาสิกา ได้นำพวงมาลัย
และช่อดอกไม้
มาถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
และสมเด็จนางเจ้า อย่างมากมาย
จนทรงรับไม่ทั่วถึง
สมเด็จพระนางเจ้าฯ
ได้ทรงขอให้นำดอกไม้ที่จะทูลเกล้าฯ
ไปบูชาพระปฏิมาในพระอุโบสถแทนพระองค์ด้วย
ผู้เขียนนำเรื่องที่
"ไพร่เมืองสุโขทัยนี้จึ่งชม"
มาเล่าให้ทราบ
เนื่องด้วยต่อไปภายหน้า ผู้ทราบเรื่องนี้
จะล้มตายหายสูญกันไปหมด
จนไม่มีผู้ใดทราบเรื่องอันควรสรรเสริญชื่นชมนี้
ผู้อ่านจะไม่พบเหตุการณ์นี้
ในหมายกำหนดการเสด็จประพาสจังหวัดสุโขทัย
ในวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๐๑
เพราะเป็นการเสด็จส่วนพระองค์
ปูชนียวัตถุที่สำคัญ
คือ
๑.
หลวงพ่อเป๋า
เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย
หมวดที่ ๒
จัดเป็นยุคทองทางศิลปะของสกุลช่างสมัย
สุโขทัย หน้าตักกว้าง ๘๐ เซนติเมตร
สูงจากฐานถึงปลายรัศมี ๑๒๕ เซนติเมตร
ปางมารวิชัย
พระรัศมีคล้ายเปลวเพลิง เม็ดพระศกเล็กแหลม
พระขนงโก่ง พระนาสิกงองุ้ม
รับพระพักตร์กลมรีรูปไข่เชิดชิดขึ้นเล็กน้อย
พระโอฐอิ่มเปี่ยมด้วยพระเมตตา
พระหนุเป็นปม พระศอยาวระหงตั้งตรง
พระองค์ดูบอบบาง
พระพาหะกว้างพระกันต์เรียวงามอ่อนช้อย
ชายสังฆาฏิยาวจนจรดพระนาภี ปลายหยัก
เป็นเขี้ยวตะขาบ ครองจีวรห่มเฉียง
เดิมประดิษฐานอยู่คู่กับรอยพระพุทธบาท
ที่พระมหาธรรมราชาลิไทย
ทรงสร้างไว้บนยอดเขาสุมนกูฎ
(เขาพระบาทใหญ่) ในบริเวณอรัญญิก
กรุงสุโขทัย
พระราชประสิทธิคุณ
อดีตเจ้าอาวาสวัดราชธานี
ได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่ วัดราชธานี
ส่วนรอยพระพุทธบาทอัญเชิญไว้ที่
วัดตระพังทอง
หลวงพ่อเป๋า
เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง
ที่เก่าแก่ของชาวจังหวัดสุโขทัย
ที่ประชาชนทั้งหลายยึดถือ
เป็นที่เคารพสักการะ
กระทั่งมีคำกล่าวว่า "ถ้าใครไปสุโขทัยแล้ว
ไม่ได้ไปกราบสักการะหลวงพ่อเป๋า
ก็เหมือนไม่ได้ไปสุโขทัย หรือไปไม่ถึง"
หลวงพ่อเป๋า ชื่อจริงคือ
"หลวงพ่อเป่า" แต่สำเนียงชาวสุโขทัย
เรียกเป็น "หลวงพ่อเป๋า"
เหตุที่ได้ชื่อหลวงพ่อเป่า
ก็เพราะพระพุทธรูปองค์นี้ มีพระโอษฐ์จู๋
คล้ายกำลังเป่ามนต์
หรือเหมือนกำลังสูบบุหรี่นั้นเอง
พุทธลักษณะของหลวงพ่อเป่า
เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย เนื้อสำริด
สมัยสุโขทัย
สาเหตุที่ทำให้รู้ว่า
หลวงพ่อเป๋าศักดิ์สิทธิ์
เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. ๒๔๖๒
ท่านพระครูวินัยสารโสภิต
(พระราชประสิทธิคุณ) เจ้าอาวาสสมัยนั้น
ท่านมีลูกศิษย์ (เด็กวัด) หลายคน
ด้วยความซุกซนของพวกเด็ก ๆ
ก็พากันไปลงเล่นน้ำที่ท่าน้ำหน้าวัด
ท่านก็เกรงว่าเด็กจะจมน้ำตาย
จึงไล่ตีให้ขึ้นจากน้ำ
พวกเด็กๆ ก็พากันวิ่งหลบหนีไปตามที่ต่างๆ
มีเด็กคนหนึ่งวิ่งหนีหลบเข้าไปในวิหาร
แอบอยู่ที่หลังพระพุทธรูป
หลวงพ่อพระครูท่านก็หาไม่พบ
จึงได้กลับกุฏิไป
สองวันผ่านไป
เด็กคนที่ไปหลบหลังพระพุทธรูป
ได้ล้มป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ รักษาก็ไม่หาย
หลวงพ่อท่านก็เลยถามเด็กว่า
ไปทำอะไรที่ไหนมา
เด็กก็เลยตอบว่า
ตอนที่หลวงพ่อไล่ตีสองวันก่อนนั้น
ได้เข้าไปหลบที่หลังพระพุทธรูปที่วิหาร
และบอกพระพุทธรูปว่า อย่าให้หลวงพ่อ
ได้พบเห็นตนเลย จะให้บุหรี่ ๑ มวน
หลวงพ่อก็เลยไปกราบพระพุทธรูปที่วิหาร
และอธิฐานว่า
ขอให้เด็กคนนี้หายจากอาการป่วยด้วยเถิด
จะถวายบุหรี่ ๑ ซอง
หลังจากนั้นเด็กวัดคนนั้น
ก็หายจากอาการป่วย
เมื่อชาวบ้านทั่วไปทราบเรื่องนี้
จึงพากันมากราบไหว้เป็นจำนวนมาก
และได้พบกับความศักดิ์สิทธิ์ประจักษ์ตาทุก
คน
และผู้ที่มาบนนั้น มักมี ขนมหม้อแกง
กับบุหรี่ แทบจะเรียกว่า ขาดไม่ได้
กล่าวได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ประจำองค์หลวงพ่อ
เป๋าเลยทีเดียว
เรื่องนี้ คุณหญิงเขื่อนเพชร
เสนา (คุณหญิงส้มจีน อุณหนันท์)
ได้เขียนบรรยายไว้ใน นิราศเมืองสุโขทัย
เมื่อเดินทางมาส่งน้องชาย
ที่จะมารับราชการเป็นอัยการเมืองสุโขทัย
เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๓
ได้มีโอกาสมาไหว้สักการะหลวงพ่อเป๋า
เล่าไว้ในนิราศสุโขทัยของท่าน ว่า
ฯลฯ
แล้วข้ามเชิงสะพานมาถึงหน้าวัด
นามถนัดราชธานีมีลานกว้าง
เข้าโบสถ์น้อยน้อมกายถวายเบญจางค์
พระพุทธปรางค์ประธานตระกานตา
มีเณรใหญ่ไขประตูอยู่พิทักษ์
เห็นมีอักษรห้ามไปตามเลขา
มิให้ใครนำปองของบุราณ์
จากทะวาร์ออกไปตามใจพาล
พระพุทธที่มีแต่เกศสังเวชหลาย
ตั้งเรียงรายหลายขนาดอาสน์ฐาน
ภาชนะเนืองนองของเบาราณ
ถ้วยโถพานกระปุกกระถางต่างนานา
ที่ไม่ทราบใช้อย่างใดสมัยนั้น
รูปพรรณสุดจะแจ้งแถลงว่า
ล้วนดินเผาเค้าปั้นด้วยปัญญา
ตามประสาตามสมัยใช้ได้การ
ท่านแต่ก่อนมิใช่โง่ไวแต่ปาก
ยังทิ้งซากไว้ประจักษ์เป็นหลักฐาน
แบบหนังสือคำภาษาวิชาการ
ให้บุตรหลานเรียนคืบสืบกันมา
ออกจากโบสถ์พิพิธภัณฑ์สถานเก่า
รูปพระพุทธเจ้านั่งตั้งอยู่ข้างหน้า
มีนามเรียกหลวงพ่อเป๋าชาวประชา
นับถือว่าศักดิ์สิทธิฤทธิไกร
มีทุกข์ร้อนบนกันให้ท่านช่วย
แก้บนด้วยบุหรี่จุดจี้ใส่
พระโอษฐ์พระสูบนั้นเป็นควันไป
ว่าลามไหม้หมดมวนเห็นถ้วนกัน
ฯลฯ
หลวงพ่อเป่า
จึงมีความหมายว่า
"พระผู้ปัดเป่าทุกข์โศก โรคภัยและอุปสรรค"
ผู้นับถือจึงมากราบขอบนบาน
เมื่อสำเร็จประสงค์แล้ว ก็จะแก้บนโดย
ผลไม้ ขนมหม้อแกง
ไม่นิยมแก้ด้วย หัวหมู เป็ด ไก่ กุ้ง
ปลาของสดของคาว เหมือนพระ
หรือเทพองค์อื่นๆ
สิ่งที่น่าอัศจรรย์ ก็คือ หลวงพ่อเป๋า
ชอบบุหรี่
ใครบนด้วยบุหรี่ ต้องแก้บน
โดยจุดบุหรี่ ใส่พระโอษฐ์ให้หลวงพ่อเป๋า
ท่านจะสูบจนหมดมวน โดยไม่ดับ
๒.
หลวงพ่อพระพุทธประทานพร
พระพุทธประทานพร
เป็นพระพุทธรูปนั่งบนฐาน
พระบาทประทับบนดอกบัว
ยกพระหัตถ์ซ้ายเหนือพระอุระ (อก)
เป็นแบบปางประทานพร
พระหัตถ์ขวาวางหงายบนพระเพลา
เหมือนกับปางป่าเลไลย์
(สันนิษฐานว่าเป็นการผสมกันระหว่าง
ปางป่าเลไลย์ กับปางประทานพรแบบยืน)
องค์พระสูง ๑๐ เมตร
ได้ถูกสร้างขึ้นเมื่อใด
ไม่มีประวัติแน่ชัด
โดยพระโบราณวัตถาจารย์
หรือพระราชประสิทธิคุณ
อดีตเจ้าอาวาสวัดราชธานี ในสมัยนั้น
เป็นการสร้างขึ้นครอบองค์พระพุทธรูปปางป่าเลไลย์
ซึ่งมีพระยาช้างปาลิเลยยกะหมอบ
ใช้งวงจับกระบอกน้ำ
และพญามกฎวานร ถวายรวงน้ำผึ้งอยู่ด้านหน้า
คอยปรนนิบัติพระพุทธเจ้าอยู่
มูลเหตุของการก่อสร้างพระประทานพร
ครอบปางป่าเลไลย์ นั้น
สืบเนื่องมาจาก
มีการรื้อศาลาการเปรียญหลังเก่าปรับปรุงก่อสร้างใหม่
ดูเด่นงดงามมาก
ซึ่งขัดกับองค์พระพุทธรูปปางป่าเลไลย์ที่มีความซำรุดทรุดโทรม
องค์พระพุทธรูปแตกร้าว
พระหัตถ์ท่อนพระกรหักหายไป รูปลิงก็แตก
รูปช้างก็ชำรุดจนไม่สามารถซ่อมได้
หลวงพ่อเจ้าคุณโบราณวัตถาจารย์ในสมัยนั้น
จึงปรึกษากับกรรมการวัด อุบาสกอุบาสิกา
จะทุบทำลายพระพุทธรูปหาได้ไม่
หลวงพ่อพระโบราณวัตถาจารย์
จึงได้สร้างพระประทานพร
ครอบไว้ดังที่เห็นในปัจจุบัน
สำหรับผู้ที่ปั้นองค์พระประทานพรนั้นคือ
นายบุญธรรม พูลสวัสดิ์
ผู้ที่บูรณปฏิสังขรณ์ พระอจนะ ที่
วัดศรีชุม ในอุทยานประวัติศาสตร์
จังหวัดสุโขทัย ในปัจจุบัน
๓.
พระประธานในอุโบสถ
เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย
ศิลปะสมัยสุโขทัย เนื้อสำริด หน้าตักกว้าง
๖๐ นิ้ว สูง ๗๗ นิ้ว
อัญเชิญมาจากเมืองเชลียง
มาประดิษฐานที่อุโบสถหลังเก่า
หลังจากไฟไหม้อุโบสถหลังเก่า
พระประธานได้รับความเสียหายไม่มากนัก
และยังคงประดิษฐานอยู่ที่เดิม
ต่อมาได้ถูกโจรกรรมเศียรไป
ไม่สามารถติดตามคืนมาได้
จึงทำให้เกิดความสังเวชใจยิ่งนักของ
ชาวสุโขทัย
เจ้าอาวาสในขณะนั้น
ได้ระดมปัจจัยในการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่
แต่ไม่เพียงพอ
จนมีนายทหารจากจังหวัดพิษณุโลก
มาทำการบูรณะให้ใหม่
โดยนำช่างมาจากจังหวัดพิษณุโลก
ทำการหล่อเศียรใหม่
จึงทำให้พระพักตร์
มีลักษณะคล้ายหลวงพ่อพระพุทธชินราช
และได้ย้ายจากอุโบสถหลังเก่า
มาประดิษฐานในอุโบสถหลังใหม่จนถึงปัจจุบัน
๔.
หลวงพ่อแดง
เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย
เนื้อสำริด ศิลปะตระกูลช่างตระกวน
หรือเรียกสั้นๆ ว่า พระตระกวน
หน้าตักกว้าง ๑๑๗ เชนติเมตร ฐานกว้าง
๑๑๖ เซนติเมตร สูงจากฐาน ๑๕๔
เชนติเมตร
ที่ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อแดง
เพราะที่พระพักตร์ลงชาดสีแดงไว้
ตั้งแต่สมัยสุโขทัย
โดยอัญเชิญมาจากวัดตระกวน
แล้วนำมาประดิษฐานที่รอบอุโบสถหลังเก่า
ต่อมาได้มีการบูรณปฎิสังขรณ์ลงรักปิด
ทอง ติดเพชรที่นลาฎ
จึงทำให้ความความงดงามหายไป
ประกาศขึ้นทะเบียน เมื่อวันที่ ๒๖
มิถุนายน ๒๕๓๐ เล่มที่ ๑๐๔ ตอนที่ ๑๒๑
หน้า ๓๑
๕.
พระพุทธรูปปางประทานอภัย
เป็นพระพุทธรูปปางประทานอภัย
ศิลปะตระกูลช่างอู่ทอง
เนื้อสำริด สูง ๑๕๒ เซนติเมตร
ยกพระหัตถ์ด้านขวา
เก็บรักษาไว้ในวิหารชั่วคราว วัดราชธานี
ประกาศขึ้นทะเบียน เมื่อวันที่ ๒๖
มิถุนายน ๒๕๓๐ เล่มที่ ๑๐๔ ตอนที่ ๑๒๑
หน้า ๓๑
๖.
พระพุทธรูปปางประทานอภัย
เป็นพระพุทธรูปปางประทานอภัย
ศิลปะตระกูลช่างอู่ทอง เนื้อสำริด สูง ๑๗๒
เชนติเมตร ยกพระหัตถ์ขวา
เก็บรักษาไว้ในวิหารชั่วคราว วัดราชธานี
ประกาศขึ้นทะเบียน เมื่อวันที่ ๒๖
มิถุนายน ๒๕๓๐ เล่มที่ ๑๐๔ ตอนที่ ๑๒๑
หน้า ๓๑
๗.
พระพุทธรูปปางประทานอภัย
เป็นพระพุทธรูปปางประทาน
อภัย ศิลปะตระกูลช่างอู่ทอง เนื้อสำริด
สูง ๒๑๔ เชนติเมตร ยกพระหัตถ์ขวา
หรือ เรียกอีกชื่อว่า หลวงธรรมจักร
เพราะพระหัตถ์ขวามีรูปธรรมจักรอยู่กลางฝ่าพระหัตถ์
เก็บรักษาไว้ในวิหารชั่วคราว วัดราชธานี
ประกาศขึ้นทะเบียน เมื่อวันที่ ๒๖
มิถุนายน ๒๕๓๐ เล่มที่ ๑๐๔ ตอนที่ ๑๒๑
หน้า ๓๑
๘.
พระพุทธรูปปางประทานอภัย
เป็นพระพุทธรูปปางประทาน
อภัย ศิลปะตระกูลช่างอู่ทอง เนื้อสำริด
สูง ๒๓๒ เชนติเมตร ยกพระหัตถ์ขวา
หรือเรียกอีกชื่อว่า หลวงธรรมจักร
เพราะพระหัตถ์ขวามีรูปธรรมจักรอยู่กลางฝ่าพระหัตถ์
เก็บรักษาไว้ในวิหารชั่วคราว วัดราชธานี
ประกาศขึ้นทะเบียน เมื่อวันที่ ๒๖
มิถุนายน ๒๕๓๐ เล่มที่ ๑๐๔ ตอนที่ ๑๒๑
หน้า ๓๑
๙.
พระพุทธรูปปางประทานอภัย
เป็นพระพุทธรูปปางประทาน
อภัย ศิลปะตระกูลช่างอู่ทอง เนื้อสำริด
สูง ๒๖๒ เชนติเมตร ยกพระหัตถ์ขวา
หรือเรียกอีกชื่อว่า หลวงธรรมจักร
เพราะพระหัตถ์ขวามีรูปธรรมจักรอยู่กลางฝ่าพระหัตถ์
เก็บรักษาไว้ในวิหารชั่วคราว วัดราชธานี
ประกาศขึ้นทะเบียน เมื่อวันที่ ๒๖
มิถุนายน ๒๕๓๐ เล่มที่ ๑๐๔ ตอนที่ ๑๒๑
หน้า ๓๑
๑๐.
พระพุทธรูปปางประทานอภัย
เป็นพระพุทธรูปปางประทาน
อภัย ศิลปะตระกูลช่างอู่ทอง เนื้อสำริด
สูง ๒๒๕ เชนติเมตร ยกพระหัตถ์ขวา
หรือเรียกอีกชื่อว่า หลวงธรรมจักร
เพราะพระหัตถ์ขวามีรูปธรรมจักรอยู่กลางฝ่าพระหัตถ์
เก็บรักษาไว้ในวิหารชั่วคราววัดราชธานี
ประกาศขึ้นทะเบียน เมื่อวันที่ ๒๖
มิถุนายน ๒๕๓๐ เล่มที่ ๑๐๔ ตอนที่ ๑๒๑
หน้า ๓๑
๑๑.
พระพุทธรูปปางประทานอภัย
เป็นพระพุทธรูปปางประทาน
อภัยอีก ๔ องค์ ศิลปะตระกูลช่างอู่ทอง
เนื้อสำริด สูงลดหลั่นตามลำดับ
ยกพระหัตถ์ขวา
ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปกร
เก็บรักษาไว้ในวิหารชั่วคราว วัดราชธานี
๑๒.
พระพุทธรูปปางสมาธิเพชร
เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิเพชร
ศิลปะตระกูลช่างอู่ทอง เนื้อสำริด
มีผ้ารัดอก หน้าตัก ๒๗ นิ้ว สูงจากฐาน ๑๒๐
นิ้ว ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปกร
เก็บรักษาไว้ในวิหารชั่วคราว วัดราชธานี
โบราณ
วัตถุที่สำคัญ
คือ
๑.
ธรรมาสน์ (สังเค็ด)
เป็นธรรมาสน์ยอดสูงทรง
จัตุรมุข หลังคาลดหลั่นตามลำดับ
เนื้อไม้ประดับด้วยลายฉลุปิดทอง
ติดกระจกเนื้อไม้
หน้าบรรณเป็นพระอินทร์ทรงเอราวัณ
แต่ในปัจจุบัน ถูกนักสะสมแกะออกไป
แต่เดิมได้ใช้เป็นที่ตั้งศพแม่ใหญ่ของ
พระยารณชัยชาญยุทธ อดีตจางวางเมืองสุโขทัย
ต่อมาใช้เป็นธรรมาสน์สำหรับพระเทศน์
และเก็บรักษาไว้ศาลาการเปรียญ วัดราชธานี
๒.
บุษบก
เป็นบุษบกขนาดเล็ก
สำหรับใช้ในการแห่ผ้าไตรพระกฐิน
และเครื่องบริขาร
ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทางเรือ
เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๘
และใช้ในสมัยพระราชประสิทธิคุณ
ในการแห่พระเทโวโรหณะ ทางเรือ
ในงานเทศกาลออกพรรษาวันเทโวโรหณะ
ในปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่ วัดราชธานี
๓.
ธรรมาสน์
เป็นธรรมาสน์สังเค็ด
งานพระบรมศพรัชกาลที่ ๕
เป็นธรรมาสน์ปิดทองลายรดน้ำ
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชการที่ ๖
(พระอิสริยยศยังไม่ผ่านพระบรมราชาภิเษก)
โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชอุทิศพระราชทาน
ในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า
เจ้าอยู่หัว เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๕๓
พระราชทานให้แก่พระอารามที่สำคัญ
หรือพระอารามที่มีพระราชาคณะผู้ใหญ่อยู่ในสมัยนั้น
ปัจจุบันเก็บรักษาไว้บนศาลาการเปรียญ
วัดราชธานี
๔.
ธรรมาสน์เทศน์
ธรรมาสน์เทศน์สมัยอยุธยา
ที่ยอดบนสุดเป็นทรงปราสาทเปรียบเสมือนชั้นของสวรรค์
มีนาคสามเศียรทุกมุม ลดลำดับชั้นลงมา
หน้าจั่วมีช่อฟ้าใบระกาประดับกระจกหุงสี
ในอาคารมีดาวเพดานดอกจงกลแกะดอกได้สวยงาม
บริเวณที่วางพระไตรปิฎก
เพื่อเทศน์แกะลายไทยบนไม้รูปกระจังปฏิญาณรวนกนก
มีที่ตั้งเทียนด้วยดอกบัว เสาย่อมุม ทั้ง
๔ ทิศ
บนล่างมีกาบประดับกระจกสลับสีเขียวขาว
กลางเสามีสี่เหลียมขนมเปียกปูนคล้ายอกเลา
(นมเลา) อยู่กึ่งกลางเสา
ถัดลงมาส่วนฐาน
มีการปล่อยข้างใต้เป็นช่องว่างโล่ง
มีลายประจำยาม, ลายกนก, ลายกระจัง,
กาบไผ่,
มีบันไดขึ้น เป็นตัวพญานาค
ขั้นบันไดเป็นลวดลายไทย
ฐานลองบันไดมีรูปสิงห์ และหนุมาน
ด้านซ้ายและขวา ส่วนตรงกลางเป็นช้าง
วัดเคยเป็นสถานที่ประกอบ
พิธีทางศาสนาของทางราชการ
๑.
เป็นสถานที่จัดกิจกรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
กล่าวคือ "วันวิสาขบูชา"
เป็นศูนย์กลางของการจัดงานประจำทุกปี
ซึ่งเป็นสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา
เพื่อสนับสนุนให้ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน
นักเรียนนักศึกษาได้พร้อมใจกันปฏิบัติธรรม
โดยมีกิจกรรม ดังนี้
การบำเพ็ญกุศลทำบุญตักบาตร
ถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์
การรักษาศีล ฟังธรรม ทำวัตรสวดมนต์
ปฏิบัติธรรม เจริญจิตตภาวนา
การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ
การทำจิตอาสาของประชาชนและหน่วยงานราชการ
การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์และอบายมุขทั้งปวง
การจัดประกวดโต๊ะหมู่บูชา
การจัดประกวดแข่งขันสวดมนต์หมู่ทำนอง
สรภัญญะ
การประกอบพิธีเวียนเทียน
๒.
เป็นสถานที่องค์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
(ททท.)
จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวไหว้พระ ๙
วัด และจัดกิจกรรมเวียนเทียนตะคัน
ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
จัดการแสดงย้อนยุค การแต่งกาย การค้าขาย
และการละเล่น
เพื่อให้ชาวต่างชาติและคนไทยได้มาย้อนอดีตของชาวจังหวัดสุโขทัย
๓. เมื่อประมาณ ๗๐
ปีก่อนเป็นสถานที่ทางราชการ พ่อค้า
และประชาชนถือว่าเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่ง
โดยที่ทางราชการได้อาศัยเป็นสถานที่ประกอบรัฐพิธีที่สำคัญ
เช่น พิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา
๔.
เป็นสถานที่สำนักงานเทศบาลเมืองสุโขทัยธานี
จัดกิจกรรมสรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ
ร่วมกับวัดราชธานี
ในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ ๑๓ - ๑๕ เมษายน
ของทุกปี
เพื่อรักษาประเพณีชาวจังหวัดสุโขทัยให้คงอยู่เป็นมรดกกับลูกหลานสืบต่อไป
๕.
เป็นสถานที่ที่สถานศึกษาต่างๆ
ได้จัดกิจกรรมถวายเทียนจำพรรษา
โดยคณะครูและนักเรียนในเขตเทศบาลเมืองสุโขทัยธานี
ได้นำต้นเทียนจัดเป็นรูปขบวนแห่รอบตลาด
เมือง สุโขทัยมาถวายวัด
เป็นการกระตุ้นและปลูกฝังประเพณีของไทยให้กับเยาวชนได้เข้าใจและสืบทอดต่อไป
ในอนาคต
๖. เป็นสถานที่หน่วยงานราชการ
จัดพิธีบำเพ็ญกุศลเกี่ยวข้องกับราชวงศ์จักรี
เพราะเป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่
หัวฯ รัชกาลที่ ๙
และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
พระบรมราชินี นาถฯ
ได้เสด็จเยือนวัดราชธานีเป็นการส่วนพระองค์
เช่น การสวดมนต์เจริญจิตตภาวนาในวันที่ ๒๘
ของแต่ละเดือน
๗.
เป็นสถานที่อำนวยความสะดวกให้ศูนย์ประสานงานมูลนิธิ
มิราเคิลออฟไลฟ์
ในทูลกระหม่อนหญิงอุบลรัตนราชกัญญา
สิริวัฒนาพรรณวดี
ได้จัดตั้งเป็นศูนย์ประสานภายในวัดราชธานี
เพื่อประสานงานให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชน
ที่ได้รับความเดือดร้อนตามโครงการ
"หนึ่งใจช่วยเหลือผู้ประสบภัย"
๘.
เป็นสถานที่เจ้าหน้าที่สถานีตำรวจภูธรเมืองสุโขทัย
ได้จัดซ้อมการปฏิบัติการต่อคนร้ายที่มี
อาวุธ
และการซ้อมป้องกันฝูงชนที่มารวมตัวกันมากๆ
๙.
เป็นสถานที่ที่หน่วยดับเพลิงเทศบาลเมืองสุโขทัยธานี
ใช้ซ้อมการป้องกันอัคคีภัยและเหตุฉุกเฉิน
เกี่ยวไฟไหม้
๑๐.
สำนักงานกองบังคับการตำรวจภูธรเมืองสุโขทัย
ใช้เป็นสถานจัดกิจกรรมถวายพระราชกุศลแด่
พระ บรมสานุวงศ์ ตลอดทั้งปี
ลำดับเจ้าอาวาส
วัดราชธานี
๑. พระครูสังฆปาโมกข์
ระหว่าง พ.ศ. ....... - ๒๔๓๑
อดีตเจ้าคณะเมืองสุโขทัย(ตำแหน่งปัจจุบัน
คือ เจ้าคณะจังหวัด)
๒. พระครูศุขวโรทัย
ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๓๔ - ๒๔๖๐
๓. พระราชประสิทธิคุณ(ทิม ยสทินฺโน)
ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๐ - ๒๕๑๓
อดีตเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย
๔. พระครูอุทัยธีรคุณ (เฉลิม กุสลธมฺโม)
ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๓ - ๒๕๖๒
อดีตเจ้าคณะอำเภอเมืองสุโขทัย
๕. พระครูศรีธรรมานุสิฐ (ทรงชัย ธวชฺชโย
ป.ธ.๖)
พ.ศ.๒๕๖๒-ปัจจุบัน
เจ้าอาวาสปัจจุบันมีสมณศักดิ์
เป็นพระครูสัญญาบัตร
ในพระราชทินนาม
ที่
พระครูศรีธรรมานุสิฐ (จร.ชต.)
ตำแหน่งทางการปกครองคณะสงฆ์ ไม่มี
|